วันอังคารที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2560

การสอนภาษาอังกฤษแบบ Communicative Approach

การสอนภาษาอังกฤษแบบ Communicative Approach  

หรือ Communicative Language Teaching 

           การสอนภาษาตามแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร เป็นการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฎี การเรียนรู้ ซึ่งมุ่งเน้นความสำคัญของตัวผู้เรียนเป็นหลัก มีการจัดลำดับการเรียนรู้เป็นขั้นตอนตามกระบวนการใช้ความคิดของผู้เรียน โดยเริ่มจากการฟังไปสู่การพูด การอ่าน การจับใจความสำคัญ       การทำความเข้าใจ การจดจำ และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้

ลักษณะสำคัญ
          จุดมุ่งหมายของวิธีสอนตามแนวการสอนเพื่อการสื่อสารนี้ มุ่งให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาเพื่อ      สื่อความหมายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ภาษาได้อย่างเหมาะสมกับสภาพสังคม การจัดการเรียนการสอนจึงเน้นหลักสำคัญดังต่อไปนี้ คือ
      1. ต้องให้ผู้เรียนเรียนรู้ว่ากำลังทำอะไร เพื่ออะไร ผู้สอนต้องบอกให้ผู้เรียนทราบถึงความมุ่งหมายของการเรียนและการฝึกใช้ภาษา เพื่อให้การเรียนภาษาเป็นสิ่งที่มีความหมายต่อผู้เรียน
      2. การสอนภาษาโดยแยกเป็นส่วนๆ ไม่ช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้การใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารได้ดีเท่ากับการสอนในลักษณะบูรณาการในชีวิตประจำวัน การใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารจะต้องใช้ทักษะ หลายๆทักษะรวมๆกันไป ผู้เรียนควรจะได้ฝึกฝนและใช้ภาษาในลักษณะรวม
     3. ต้องให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรมการใช้ภาษา ซึ่งกิจกรรมควรมีลักษณะเหมือนในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด
     4. ต้องให้ผู้เรียนฝึกการใช้ภาษามากๆ การที่ผู้เรียนจะสามารถใช้เพื่อการสื่อสารได้นั้น นอกจากผู้เรียนจะต้องทำกิจกรรมการใช้ภาษาดังกล่าวแล้ว ยังต้องมีโอกาสได้ทำกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ให้มากที่สุดที่จะเป็นไปได้
     5. ผู้เรียนต้องไม่กลัวว่าจะใช้ภาษาผิด แนวการเรียนการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารให้ความสำคัญกับการใช้ภาษา (Use) มากกว่าวิธีใช้ภาษา (Usage) นอกจากนี้การสอนภาษาเพื่อการสื่อสารควรให้ความสำคัญในเรื่องความคล่องแคล่วในการใช้ภาษา (Fluency) เป็นอันดับแรก ส่วนความถูกต้องของการใช้ภาษา (Accuracy) ก็ควรคำนึงด้วยเช่นกัน
       การเรียนการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารมุ้งเน้นที่จะพัฒนาความสามารถของผู้เรียนในการใช้ภาษา (Use) ตามความมุ่งหมายในสถานการณ์ต่างๆ และแม้จะให้ความสำคัญกับความคล่องแคล่วในการใช้ภาษา (Fluency) แต่ไม่ละเลยเรื่องความถูกต้องของภาษา (Accuracy) การเรียนการสอนในลักษณะนี้จึงเน้นการทำกิจกรรมเพื่อฝึกการใช้ภาษาที่ใกล้เคียงกับสถาณการณ์จริงให้มากที่สุด


การจัดการเรียนการสอน

1.   ขั้นการนำเสนอเนื้อหา (Presentation) ในข้นนี้ครูจะให้ข้อมูลทางภาษาแก่ผู้เรียน ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการเรียนรู้ มีการนำเสนอเนื้อหาใหม่ โดยจะมุ่งเน้นการให้ผู้เรียนได้รับรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายและรูปแบบภาษาที่ใช้กันจริงโดยทั่วไป
2.   ขั้นการปฏิบัติ (Practice) ในขั้นนี้ครูจะให้ผู้เรียนได้ฝึกใช้ภาษาที่จะเพิ่งเรียนรู้ใหม่จากการนำเสนอเนื้อหาในลักษณะของการฝึกควบคุมหรือชี้นำ (Controlled Practice/Directed Activities) โดยมีครูผู้สอนเป็นผู้นำในการฝึก ไปสู่การฝึกที่แบบค่อยๆปล่อยให้ทำเองมากขึ้น ในการฝึกนั้น ครูจะเริ่มการฝึกปากเปล่า (Oral) ซึ่งเป็นการพูดแบบง่ายๆก่อน จนได้รูปแบบภาษา แล้วค่อยเปลี่ยนสถานการณ์ที่ล้วนแต่สร้างขึ้นภายในห้องเรียนทั้งนั้น เพื่อฝึกการใช้โครงสร้างประโยคตามบทเรียน นอกจากนี้ควรมีการตรวจสอบความเข้าใจของผู้เรียนควบคู่ไปด้วย แต่ไม่ควรใช้เวลามากนัก ต่อจากนั้นจึงฝึกด้วยการเขียน (Written) เพื่อเป็นการผนึกความแม่นยำในการใช้
3.  ขั้นการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร (Production) ถือเป็นขั้นที่มีความสำคัญมากที่สุด เพราะการฝึกใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารเปรียบเสมือนการถ่ายโอนการเรียนรู้ภาษาจากสถานการณ์ในชั้นเรียน ไปสู่การนำภาษาไปใช้จริงนอกชั้นเรียน
    แนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร
แนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารที่มีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน มีลักษณะ 4 ประการ ได้แก่
     1. เป้าหมายของการสอนเน้นไปที่องค์ประกอบทั้งหมดของทักษะการสื่อสาร ไม่จำกัดอยู่ภายในกรอบของเนื้อหาภาษาหรือไวยากรณ์
     2. เทคนิคทางภาษาได้รับการออกแบบมาเพื่อนำผู้เรียนไปสู่การใช้ภาษาอย่างแท้จริงตามหน้าที่ของภาษา
     3. ความคล่องแคล่วและความถูกต้อง เป็นหลักการเสริมอยู่ภายใต้เทคนิคการสื่อสาร
    4. ผู้เรียนจะต้องใช้ภาษาได้อย่างมีความเข้าใจและสร้างสรรค์ ภายในบริบทที่ไม่เคยมีการฝึกมาก่อน

ข้อดี

1. ผู้เรียนได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติ ทางภาษาได้สมจริงตามสถานการณ์ต่างๆ
2. ผู้เรียนเกิดความสนใจในการเรียนเพราะได้เรียนสิ่งที่มีความหมายต่อตนเองและสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน
3. ผู้เรียนได้มีโอกาสฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทั้งในบทบาทผู้นำและผู้ตามของกลุ่ม
4. ผู้เรียนได้ฝึกการคิดในการเรียนมากขึ้น เพราะลักษณะของกิจกรรมส่วนใหญ่ จะเป็นกิจกรรมการแก้ปัญหา
ข้อจำกัด
1. วิธีการสอนภาษาตามแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสารนี้ ต้องการผู้สอนที่มีความสามารถในการจัดสื่อ กิจกรรมที่หลากหลายเพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสฝึกกิจกรรมทางภาษาในสถานการณ์ต่างๆได้มาก
2. วิธีการสอนนี้จำเป็นที่ผู้สอนจะต้องใช้ความอดทนมากเพราะในขณะที่ทำกิจกรรมผู้เรียนอาจขาดวินัย และไม่พยายามใช้ภาษาต่างประเทศ ในการสื่อสารซึ่งผู้สอนต้องคอยให้ความช่วยเหลือดูแล และคอยกระตุ้นการใช้ภาษาของผู้เรียนอยู่ตลอดเวลา
3. เป็นวิธีสอนที่เหมาะกับผู้เรียนกลุ่มเด็ก
    กล่าวโดยสรุปแล้ว วิธีสอนภาษาตามแนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร (Communicative Approach) นี้จะให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศของผู้เรียนเป็นหลัก ซึ่งวิธีสอนในลักษณะนี้จะให้ความสำคัญกับผู้เรียนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ผู้สอนมีหน้าที่แค่คอยให้คำปรึกษาเท่านั้น.....

วันพุธที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2560

ชุดการสอนแบบศูนย์การเรียน

ชุดการสอนแบบศูนย์การเรียน กลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เรื่อง Parts of speech ชุดที่ 3 เรื่อง การใช้คุณศัพท์ (Adjective)

ชุดการสอนแบบศูนย์การเรียน

ชุดการสอนแบบศูนย์การเรียน กลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เรื่อง Parts of speech ชุดที่ 2 เรื่อง การใช้คำสรรพนาม (Pronouns)

ชุดการสอนแบบศูนย์การเรียน

ชุดการสอนแบบศูนย์การเรียน กลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เรื่อง Parts of speech ชุดที่ 1 เรื่อง การใช้คำนาม (Nouns)



การจัดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน ( Learning Center )

ความหมาย
            การจัดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียน เป็นกระบวนการที่ผู้สอนจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้ผู้เรียน โดยให้ผู้เรียนศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองตามความต้องการ ความสนใจและความสามารถจากศูนย์การเรียนที่ผู้สอนได้จัดเตรียมเนื้อหาสาระ กิจกรรมและสื่อการสอนแบบประสม โดยปกติศูนย์การเรียนจะมีหลายศูนย์  แต่ละศูนย์จะมีเนื้อหาสาระและกิจกรรมเบ็ดเสร็จในตัวเอง ผู้เรียนจะหมุนเวียนกันเข้าศึกษาหาความรู้จากศูนย์ต่าง ๆ ที่จัดเตรียมไว้อย่างหลากหลายจนครบทุกศูนย์ ผู้เรียนจะต้องประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่โปรแกรมได้กำหนดเอาไว้ภายใต้การดูแลของผู้สอนซึ่งผู้สอนจะทำหน้าที่เป็นผู้จัดเตรียมศูนย์การเรียน ให้คำแนะนำ อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ พร้อมทั้งประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วย
ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้
ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียนแบ่งออกเป็น  4 ขั้นตอนดังนี้
1.   ขั้นเตรียมการ      เตรียมผู้สอน ก่อนจะทำการสอนทุกครั้งผู้สอนจะต้องศึกษาข้อมูลและรายละเอียดต่าง ๆ ในคู่มือการสอน เริ่มตั้งแต่จุดประสงค์การเรียนรู้ การนำเข้าสู่บทเรียน การแบ่งกลุ่มผู้เรียน ระยะเวลาที่เหมาะสมในการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละศูนย์ /กลุ่ม / ฐานการเรียนรู้ เนื้อหาวิชาที่จะสอน วิธีการใช้สื่อต่าง ๆ ประกอบการสอน วิธีการวัดประเมินผล จนถึงการสรุปบทเรียน
       เตรียมวัสดุอุปกรณ์  ผู้สอนต้องเตรียมวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในแต่ละศูนย์ / กลุ่ม /ฐานการเรียนรู้ว่ามีจำนวนเพียงพอและอยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดีหรือไม่ เช่น ใบงาน เอกสารเนื้อหาสาระ (Fact sheets ) บัตรกิจกรรม อุปกรณ์การฝึกทดลองประเภทต่าง ๆ แบบประเมินผล เป็นต้น
       เตรียมสถานที่  สร้างสิ่งแวดล้อมที่สะดวกสบาย อบอุ่น สะอาด บรรยากาศดีเพื่อให้ผู้เรียนมีความสุขกับการเรียนรู้เป็นลำดับแรก หลังจากนั้นจัดเตรียมโต๊ะ เก้าอี้ เป็นลักษณะกลุ่มย่อยตามเนื้อหาที่จะสอน ให้เพียงพอกับจำนวนคนและกิจกรรมที่จะต้องทำ เช่น จัดโต๊ะเป็นกลุ่ม ๆ ละ 8 คน
แต่ละกลุ่มวางป้ายชื่อเรื่องที่ต้องการให้เกิดการเรียนรู้ให้ชัดเจน
 2.  ขั้นสอน
       สร้างกติกาการเรียนรู้ร่วมกัน ผู้สอนชี้แจงกระบวนการเรียนรู้แบบศูนย์การเรียนและสร้างกติกาหรือข้อตกลง ร่วมกัน เช่น การรักษาเวลาในการเรียนรู้แต่ละศูนย์ การทำงานเป็นทีม ความรับผิดชอบในการทำกิจกรรม เป็นต้น
      ทดสอบก่อนเรียน  พร้อมบอกผลการสอบเพื่อให้ทุกคนทราบความรู้พื้นฐานของตนเอง
      นำเข้าสู่บทเรียน   ผู้สอนใช้กิจกรรมหรือวิธีการที่สอดคล้องกับเนื้อหาสาระและเหมาะสมกับผู้เรียน ต่อจากนั้นอาจอธิบายเนื้อหาสาระและวิธีการที่จะเรียนพอสังเขป
      แบ่งกลุ่มผู้เรียน    ผู้สอนแบ่งกลุ่มผู้เรียนตามจำนวนศูนย์ /กลุ่ม / ฐานการเรียนรู้  และควรแบ่งแบบคละกันตามความสามารถ ความสนใจ เพศ วัย เพื่อให้แต่ละกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน
      ดำเนินกิจกรรม   ให้ผู้เรียนทำกิจกรรมต่าง ๆ ครบในทุกศูนย์ /กลุ่ม / ฐานการเรียนรู้กำหนด
3.   ขั้นสรุปบทเรียน  หลังจากที่ผู้เรียนหมุนเวียนกันทำกิจกรรมครบศูนย์ / กลุ่ม / ฐานการเรียนรู้แล้ว ผู้สอนตั้งคำถามให้ผู้เรียนสะท้อนความรู้สึกและบทเรียนที่ได้รับ  ผู้สอนทำหน้าที่สรุปบทเรียนทั้งหมดร่วมกับผู้เรียน
4.   ขั้นประเมินผล  เมื่อสรุปบทเรียนแล้วให้ผู้เรียนทำการทดสอบหลังเรียน พร้อมทั้งแจ้งผลการทดสอบให้ทุกคนทราบพัฒนาการของตนเองเมื่อเปรียบเทียบกับผลการทดสอบก่อนเรียน